ดิ อาร์ต อ๊อคชั่น เซ็นเตอร์ (The Art Auction Center) บริษัทประมูลงานศิลปะชั้นนําของไทย และ ดี สยาม (De Siam) อาณาจักรแอนทีคที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน ขอเชิญร่วมเดินทางไปสำรวจดินแดนอันกว้างใหญ่และไร้ขอบเขตกับนิทรรศการแสดงผลงานศิลปะและการประมูล “VOYAGE DE L’ART” ด้วยพลังแห่งศิลปะจะพาคุณไปค้นพบประสบการณ์ล้ำค่าผ่านผลงานทั้ง 122 ชิ้น ซึ่งนำมาจัดแสดงโดยแบ่งออกเป็น 8 โซน เปรียบเป็น 8 ดินแดนซึ่งรอคอยการสำรวจ นั่นก็คือ …
- “Dans la Forêt (Into the Woods)” เสียงเพรียกจากพงไพร แรงบันดาลใจซึ่งทำให้การเดินทางเริ่มต้น
- “Étreinte de la Mer (Sea’s Embrace)” แหวกว่ายสำรวจมหาสมุทรอันกว้างใหญ่ ดำดิ่งสู่สายน้ำแห่งชีวิตซึ่งเป็นองค์ประกอบและต้นกำเนิดทุกสรรพสิ่ง
- “Au Dessus de l’Horizon (Above Horizon)” ทะยานสู่วิมานอากาศ ล่องลอยเสมือนฝันท่ามกลางท้องนภากว้างไกลนำพาจิตใจให้สงบ
- “Souterrain Éclatant (Volcanic Realm)” ดินแดนอันร้อนรุ่มไปด้วยการปะทุทางความคิดที่จริงจังและเข้มข้น เร่งเร้าให้เหล่านักเดินทางได้เกิดการตั้งคำถามและตระหนักถึงบริบทต่าง ๆ รอบตัว
- “Terre de la Réflexion (Land of Reflection)” การเดินทางสู่ดินแดนลึกลับ นครมายาที่จะพาเหล่านักเดินทางเข้าสำรวจพื้นที่ภายในใจตน ค้นลึกถึงก้นบึ้งของจิต แสวงหาความจริงแท้ที่อาจซ่อนเร้นหรือถูกกดทับไว้ ให้ได้เรียนรู้ที่จะยอมรับและก้าวเดินต่อไป เพื่อเผชิญหน้ากับสิ่งใหม่ ๆ
- “Imagination Illimitée (Limitless Imaginary)” ดินแดนจินตนาการไร้ขอบเขต ที่จะพาเหล่านักเดินทางออกเดินทางไกล ท่องไปสู่ทุกความเป็นไปได้อย่างไร้ขีดจำกัด เติมเต็มสิ่งใหม่ให้กับชีวิตอย่างไม่รู้จบ
- “Splendeure Occidentale (The Occidental Glory)” ดินแดนอาทิตย์ลับขอบฟ้า พื้นที่แห่งการริเริ่มอารยธรรมตะวันตก
- “Brise de l’Est (Breeze of the East)” ดินแดนสายลมบูรพาที่พัดพาวัฒนธรรมตะวันออกให้อบอวลกรุ่นกลิ่นไปทั่วแดน
พบกับผลงานศิลปะหลากหลายแขนงของศิลปินชั้นนำชาวไทยและนานาชาติ พร้อมกับการจัดแสดงหีบเดินทาง (Trunk) วินเทจของ Louis Vuitton และ Goyard จาก ดี สยาม สำหรับหีบแบรนด์ฝรั่งเศสชื่อดังเหล่านี้ ครั้งหนึ่งเคยเป็นเพื่อนคู่ใจสำหรับการเดินทาง ก่อนจะกลายเป็นของสะสมอันทรงคุณค่า ซึ่งในปัจจุบันนิยมนำมาประดับตกแต่งอาคารบ้านเรือนเพื่อแสดงถึงสไตล์และเสน่ห์ข้ามกาลเวลา
นิทรรศการ “VOYAGE DE L’ART” จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 8-18 กุมภาพันธ์ 2567 เวลา 10.00-19.00 น. ที่ JWD Art Space ชั้น 3 และการประมูลจัดขึ้นในวันอาทิตย์ที่ 18 กุมภาพันธ์ 2567 เริ่มลงทะเบียนเวลา 10.00 – 13.00 น. การประมูลเริ่มต้นในเวลา 14.00 น. ที่ JWD Art Space ชั้น 3 สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 02 233 7939 และ 065 097 9909 เตรียมจัดกระเป๋าของคุณ แล้วออกเดินทางไปกับ “VOYAGE DE L’ART” เพื่อค้นพบนิยามใหม่ของประสบการณ์ในนิทรรศการแสดงผลงานศิลปะและการประมูลครั้งนี้
ผลงานไฮไลต์ใน “VOYAGE DE L’ART”
นิทรรศการแสดงผลงานศิลปะและการประมูล “VOYAGE DE L’ART” จะพาทุกคนออกเดินทางไปสำรวจคอลเลกชันผลงานที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวอย่างน่าทึ่งจำนวน 122 ชิ้น ตัวอย่างสุดยอดผลงานการสร้างสรรค์ทางศิลปะที่แนะนำและให้ข้อมูลโดย คุณพิริยะ วัชจิตพันธ์ ผู้ก่อตั้ง The Art Auction Center
มณเฑียร บุญมา “Stupa/สถูป” (พ.ศ. 2537) สื่อผสม
“ผลงานขนาดใหญ่ของ มณเฑียร บุญมา ที่ไม่เคยถูกเผยแพร่หรือจัดแสดงที่ใดมาก่อน เป็นงานซึ่งแสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงจากงาน 2 มิติในชุด “เจดีย์” ไปสู่งาน 3 มิติในชุด “อโรคยศาล” ซึ่งเป็นงานที่มีชื่อเสียงโด่งดังระดับโลก อาจารย์มณเฑียรมีความสนใจในอโรคยศาล ซึ่งเป็นสิ่งก่อสร้างของวัฒนธรรมขอมที่พบเห็นได้ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย โดยในสมัยขอมโบราณ สถานพยาบาลจะมีสิ่งก่อสร้าง 2 หลังสร้างจากไม้และอิฐสำหรับรักษาผู้คนทางกายและทางใจควบคู่กัน เมื่อเวลาผ่านไป สิ่งก่อสร้างที่ทำด้วยไม้ก็เสื่อมสลาย เหลือแต่หลังที่สร้างจากอิฐซึ่งเรียกว่า อโรคยศาล อาจารย์มณเฑียรเชื่อว่า ดินซึ่งนำมาสร้างเจดีย์เป็นธาตุที่ห่อหุ้มโลก เป็นที่กำเนิดและเป็นบ้านของสรรพชีวิต ดินสามารถเสื่อมสลายหายไปได้ แต่ดินที่ถูกนำมาปั้นและเผาจนกลายเป็นอิฐจะมีความทนทานแข็งแกร่ง เปรียบได้กับชีวิตที่บรรลุแล้วด้วยการขัดเกลาโดยธรรม งานชิ้นนี้ติดตั้งอยู่ที่บ้านพักส่วนตัวของนักสะสมมาตั้งแต่สร้างเสร็จเมื่อ 30 ปีที่แล้ว นี่เป็นครั้งแรกที่ออกแสดงต่อสาธารณะ”
ถวัลย์ ดัชนี “Landlord of the Earth” (พ.ศ. 2515) ปากกาลูกลื่นบนกระดาษ
“งานชิ้นใหญ่ซึ่งใช้เวลาในการสร้างสรรค์นานและใช้ความละเอียดพิถีพิถันมาก เวลาวาดอาจารย์ถวัลย์จะนอนคว่ำเอาอกหนุนหมอนไว้แล้วใช้ปากกาค่อย ๆ ฝน ให้มีน้ำหนักอ่อนแก่จนเกิดเป็นภาพคนที่มีหัวเป็นสัตว์ เป็นงานซึ่งอยู่ในสภาพสมบูรณ์ดีมาก ทั้งที่เวลาผ่านไปหลายสิบปีแล้ว”
นที อุตฤทธิ์ “Untitled” (พ.ศ. 2536) สีอะคริลิกบนผืนผ้าใบ
“ภาพจิตรกรรมแนวเอ็กซ์เพรสชั่นนิสม์รูปนก เป็นงานในยุคเริ่มต้นของศิลปินไทยที่มีชื่อเสียงระดับโลก คนมักจะคุ้นกับงานสมจริง (Realism) ของนทีมากกว่า ชิ้นนี้จึงถือว่าแปลก ศิลปินคนอื่นมักจะเริ่มต้นจากงานสมจริง ก่อนจะลดทอนจนกลายเป็นนามธรรม (Abstract) หรือเป็นเอ็กซ์เพรสชั่นนิสม์ แต่งานของนทีเริ่มต้นจากเอ็กซ์เพรสชั่นนิสม์ก่อน แล้วค่อยเป็นเรียลิสม์ขึ้นเรื่อย ๆ งานของนที แม้จะเป็นสติลล์ไลฟ์รูปสิ่งของต่าง ๆ วางอยู่บนโต๊ะ แต่ก็จะมีคอนเสปท์ มีความหมาย มีประเด็นที่อยากจะเล่าและสื่อถึงบางอย่าง ซึ่งทำให้งานของเขาน่าสนใจ”
ประเทือง เอมเจริญ “ฟ่อนฟางดำ” (พ.ศ. 2517) สีน้ำมันบนผืนผ้าใบ
“ผลงานยุคเริ่มแรกของอาจารย์ประเทือง ได้แรงบันดาลใจจากชนบทและธรรมชาติ เป็นงานขนาดใหญ่ยุคใกล้เคียงกับงานชุด “จักรวาล” ที่เพิ่งประมูลไปที่ฮ่องกงในราคา 27 ล้าน”
มอลลี่ “The Waiting – Pink Version, Ed.2/5” (พ.ศ. 2565) ไฟเบอร์กลาสส์
“Crybaby ของ มอลลี่ ประสบความสำเร็จอย่างสูงและขายหมดอย่างรวดเร็ว ครั้งนี้พิเศษคือ Crybaby สีชมพู เจ้าของนำออกประมูลเพื่อนำเงินรายได้ทั้งหมดบริจาคให้กับโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ โดยไม่หักค่าใช้จ่ายและทาง The Art Auction Center ไม่คิดค่าใช้จ่ายใด ๆ ผู้ประมูลยังสามารถใช้สิทธิ์ลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่า”
มิสเตอร์ครีม (Mr.Kreme) “Mushkin” (พ.ศ. 2563) ไฟเบอร์กลาสส์
“ผลงานต้นแบบของ มัชกิ้น ไดโนเสาร์กินผัก ที่สร้างขึ้นมาเพียงชิ้นเดียวแล้วนำออกมาแสดงในนิทรรศการครั้งแรกของศิลปิน หลังจากนั้นมัชกิ้นก็ถูกพัฒนาเป็นคาแรคเตอร์ที่มีเอกลักษณ์ สำหรับมิสเตอร์ครีมเป็นศิลปินที่กำลังมาแรงซึ่งมีโอกาสทำงานร่วมกับแบรนด์ระดับนานาชาติมากมาย”
มือบอญ “Freedom of Speech” (พ.ศ. 2564) สีน้ำมัน, อะคริลิกกวอช และ สเปรย์บนผืนผ้าลินิน “ศิลปินสตรีทอาร์ตของไทยที่มีชื่อเสียงระดับนานาชาติ งานชิ้นนี้เขาสร้างสรรค์ขึ้นมาเป็นส่วนตัว ไม่เคยนำออกแสดง เป็นงานที่เกิดจากความรู้สึกอึดอัดทางการเมือง มือบอญวาดภาพตนเองโดนปิดหูปิดตาปิดจมูกปิดปากแล้วมีนกอยู่บนหัว สื่อถึงความรู้สึกกดดันภายใน หน้าที่ของศิลปินนอกจากสร้างสรรค์งานเพื่อให้เกิดความสวยงามเกิดสุนทรีย์แล้วยังเป็นกระบอกเสียงสะท้อนแนวคิดต่าง ๆ ทางสังคม ซึ่งศิลปินสามารถแสดงออกและใช้งานของเขาสื่อไปหาผู้ชมได้”
กิตติ นารอด “Crowd in Deep Water” (พ.ศ. 2559) สีอะคริลิกบนผืนผ้าใบ
“กิตติ นารอดเป็นศิลปินไทยที่มาแรงได้รับความนิยมระดับนานาชาติ เขาภาพวาดคนตัวยืด แขนขายาว จำนวนมากอยู่ในรูปเดียวกัน ใช้คู่สีตรงข้าม ฉูดฉาด เป็นงานที่ใช้ความละเอียดและเวลาในการสร้างสรรค์มาก”
วันดา ใจมา “ปากปีจอ” พ.ศ. 2561 สีอะคริลิกบนผืนผ้าใบ
“ภาพวาดจากช่วงเริ่มต้นทำงาน ก่อนจะพัฒนาเป็น “ปากหมา” งานชุดที่มีชื่อเสียงของ วันดา ใจมา ศิลปินรุ่นใหม่ที่น่าจับตามองด้วยการสร้างสรรค์ผลงานที่มีเนื้อหาโดดเด่น”
สะหย่า ตอง (Saya Thaung) “Family Portrait” (ปลายศตวรรษที่ 19 – ต้นศตวรรษที่ 20) สีกวอชบนผ้า
“ศิลปินเมียนมาร์ สะหย่า ตองอาจเทียบได้กับขรัวอินโข่งของไทย เดิมเป็นช่างวาดรูปให้กับราชสำนัก หลังเปลี่ยนแปลงการปกครองจึงกลายมาเป็นศิลปินอิสระ นับเป็นชาวเมียนมาร์คนแรก ๆ ที่วาดภาพแบบมีแสง ความลึก มีเปอร์สเปคทีฟเหมือนตะวันตก
ครั้งนี้ยังมีงานของศิลปินอาเซียนที่มีชื่อเสียง เช่น งานของชาวเมียนมาร์อีกคนคือ อู ลูน จาเว (U Lun Gywe) เขาเป็นศิลปินอาวุโสที่มีชื่อเสียงและยังมีชีวิตอยู่ ผู้สร้างสรรค์ศิลปะร่วมสมัยสะท้อนชีวิตประจำวันชาวเมียนมาร์ นอกจากนี้ยังมีงานของ ระเด่นบาซูกิ อับดุลลาห์ ชาวอินโดนีเซียซึ่งเคยมาเป็นศิลปินในราชสำนักของไทย เขานับเป็นศิลปินวาดภาพพอร์เทรตที่ดังที่สุดในภูมิภาคนี้ ทั้งยังมีงานจากประเทศอื่น ๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ตอนนี้เริ่มได้รับความสนใจมากขึ้นจากนักสะสมและพิพิธภัณฑ์ ซึ่งน่าจะมีมูลค่าสูงมากขึ้นในอนาคต”
ผลงานที่โดดเด่นอื่น ๆ ยังรวมถึง “งาน ของ อเล็กซ์ เฟซ กับภาพคาแรคเตอร์ มาร์ดี เด็กผู้หญิงสามตาที่มีหูเหมือนกระต่าย เป็นชิ้นที่ถูกจัดแสดงในนิทรรศการที่ประเทศอิตาลี งานของอาจารย์ช่วง มูลพินิจ วาดขึ้นเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของโปสเตอร์หนังเรื่องไกรทอง ในปี พ.ศ. 2523 รวมไปถึงภาพสเก็ตช์ผู้หญิงงามในอุดมคติของอาจารย์จักรพันธุ์ โปษยกฤต งานชิ้นพิเศษที่วาดขึ้นโดยมีแรงบันดาลใจมาจากภาพจิตรกรรมฝาผนัง “ปู่ม่านย่าม่าน” กระซิบบอกรัก จังหวัดน่านของ อาจารย์ สุเชาว์ ศิษย์คเณศ หรือ แวนโก๊ะเมืองไทย งานของ หม่อมเจ้ามารศีสุขุมพันธุ์ บริพัตร ชิ้นที่แปลกกว่างานอื่น ๆ ตรงที่ไม่ได้เป็นงานมีสีสันหลากหลาย แต่เป็นงานแนวเซอร์เรียลิสม์ สีโมโนโทน ภาพของดอกไม้ดอกใหญ่ ซึ่งถ้าลองดูใกล้ ๆ จะเห็นมีรูปคนค่อย ๆ ผุดออกมา
นอกจากนี้ยังมีงาน กาลิเลโอ คินี ศิลปินอิตาลีซึ่งถูกเชิญมาวาดภาพพระที่นั่งอนันตสมาคมในสมัยรัชกาลที่ 5 แล้วก็มีเหรียญผลงานออกแบบของอาจารย์ศิลป พีระศรี ก่อนที่จะเดินทางมาเมืองไทย แล้วยังมีภาพพิมพ์ในปี พ.ศ. 2311โดยศิลปินชาวฝรั่งเศสซึ่งเดินทางมาเมืองไทยในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เป็นภาพแผนที่อยุธยา พร้อมภาพสมเด็จพระนารายณ์มหาราชและเจ้าพระยาโกษาธิบดี (ปาน) เอกอัครราชทูตที่ถูกส่งไปฝรั่งเศส”
พบกับนิทรรศการแสดงผลงานศิลปะและการประมูล “VOYAGE DE L’ART” ได้ระหว่างวันที่ 8 – 18 กุมภาพันธ์ 2567 เวลา 10.00 – 19.00 น. ที่ JWD Art Space ชั้น 3 การประมูลผลงานจะจัดขึ้นในวันอาทิตย์ที่ 18 กุมภาพันธ์ 2567 ที่ JWD Art Space ชั้น 3 เริ่มลงทะเบียนเข้าร่วมงานประมูล เวลา 10.00 – 13.00 น. และเริ่มประมูลผลงาน เวลา 14.00 น.
“แค่มาดูก็คุ้มแล้ว เพราะทั้งหมดเป็นงานหาดูไม่ได้ง่าย ๆ บางชิ้นคุณอาจจะไม่มีโอกาสได้เห็นอีกเลยตลอดชีวิต มางานนี้แล้วยังจะได้รับความรู้เรื่องศิลปะ ประวัติศาสตร์ของแบรนด์ดัง รวมทั้งการเดินทางในอดีตด้วย” คุณพิริยะ วัชจิตพันธ์ กล่าวทิ้งท้าย