sacit นำคณะสื่อมวลชนลงภาคใต้ เพื่อศึกษางานศิลปหัตถกรรมไทย เกิดการรับรู้และอนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่นภาคใต้ พร้อมทั้งสืบสานและต่อยอดงานศิลปหัตถกรรมไทยให้คงอยู่คู่สังคมไทยต่อไป
สถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย หรือ sacit มีภารกิจในการสืบสาน สร้างสรรค์ และส่งเสริมงานศิลปหัตถกรรมไทยในทุกมิติอย่างยั่งยืน โดยเล็งเห็นถึงความสำคัญต่อการสืบสานและรักษาภูมิปัญญาเทคนิคเชิงช่างให้คงอยู่คู่กับสังคมไทย จึงจัดกิจกรรมนำคณะสื่อมวลชนลงพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช เพื่อศึกษางานศิลปหัตถกรรมไทยชั้นครูในถิ่นภาคใต้ และถ่ายทอดงานหัตถศิลป์ไทยทรงคุณค่า ที่เป็นเอกลักษณ์ทางภูมิปัญญาที่สืบสานผ่านกาลเวลา
คณะสื่อมวลชนได้เดินทางเพื่อรับรู้ ศึกษางานศิลปหัตถกรรมไทย และร่วมเผยแพร่ภูมิปัญญาท้องถิ่นภาคใต้ รวมถึงการสืบสาน ต่อยอดงานศิลปหัตถกรรมไทยให้คงอยู่คู่สังคมไทย ณ จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นเวลา 3 วัน เป็นทริปที่ได้ทั้งความรู้แบบล้ำลึก ถึงต้นตอแหล่งผลิตผลงานที่งดงามและมีเอกลักษณ์ที่โดดเด่นทั้งด้านความคิดสร้างสรรค์ และฝีมือคนท้องถิ่นระดับชั้นครูอีกด้วย
ศิลปะการทอผ้ายกเมืองนคร ศิลปหัตถกรรมไทยบ้านตรอกแค อำเภอชะอวด
เริ่มต้นการศึกษาและรับรู้งานศิลปหัตถกรรมไทย ที่บ้านตรอกแค อำเภอชะอวด ซึ่งเป็นแหล่งผ้ายกเมืองนคร ศิลปะแห่งการทอผ้าที่งดงามสืบทอดกันมาหลายร้อยปีแล้ว เป็นวิถีถิ่น วิถีไทยภาคใต้ สานศิลป์ แดนดินใต้เทิดไท้องค์ราชัน เราได้พบกับขั้นตอนการทอผ้าด้วยมือและเครื่องทอจากผู้เชี่ยวชาญระดับครู ที่มาทอให้ดูกันสดๆ สร้างความประทับใจให้เหล่าสื่อมวลชนที่ไปดูงานในครั้งนี้เป็นอย่างยิ่ง และผลิตภัณฑ์ที่ทอแล้ว เสร็จสมบูรณ์มาเป็นผ้าทอที่งดงาม นำมาตัดเป็น่ชุดกางเกง กระโปรง เสื้อ ผ้าพันคอ กระเป๋า หมวก ฯลฯ ซึ่งมีลวดลายไทยแบบต่างๆ นี่คือเสน่ห์ของผ้าทอไทยที่เลื่องลือไปทั่วโลก
ครูวิไล จิตรเวช ครูช่างศิลปหัตถกรรม ปี 2557 เปิดเผยถึงการต่อยอดงานผ้ายกเมืองนคร ว่าเป็นผ้าในราชสำนักของชาวเมืองนครศรีธรรมราชมีประวัติยาวนานมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา โดยผ้ายกเมืองนครนับเป็นหนึ่งในหัตถกรรมล้ำค่าที่สืบสานกันมายาวนานคู่จังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งปัจจุบันได้มีการรื้อฟื้นผ้าทอลายโบราณ เช่น ลายพิกุลเถื่อนดอกลอย และลายพิกุลก้านแย่ง อีกทั้งมีการพลิกแพลงพัฒนาลวดลายเพิ่มเติม อย่างลายเกร็ดพิมเสน ที่นำลวดลายต่าง ๆ มาทอไว้ในผืนเดียว เช่น ลายกรวยเชิง 3 ชั้น , ลายหน้ากระดาน , ลายขลิบพิมเสน , ลายช่อแทงท้อง เป็นต้น พร้อมทอสังเวียนรอบผืน ทำให้มีความร่วมสมัยมากขึ้น ตอบสนองความต้องการของตลาด สอดรับการใช้งานในชีวิตประจำวัน และถือเป็นการสืบสานต่อยอดงานผ้ายกเมืองนครให้ยั่งยืน
คุณนฤดี ภู่รัตนรักษ์ ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ศิลปหัตถกรรม และรักษาการแทนผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย มอบของที่ระลึกจาก SACIT แด่ครูวิไล จิตรเวช ครูช่างศิลปหัตถกรรม ปี 2557
จากรุ่นสู่รุ่น ในการสืบสานเทคนิคย้อมผ้าด้วยสีธรรมชาติ และงานผ้าบาติกที่เขียนเทียนด้วยมือ
สำหรับศิลปหัตถกรรมต่อมา เป็นการเผยแพร่ภูมิปัญญาท้องถิ่นชาวบ้านที่หมู่บ้านคีรีวงที่ถ่ายทอดสืบต่อกันมาจากรุ่นสู่รุ่น เป็นเรื่องการสืบสานเทคนิคย้อมผ้าด้วยสีธรรมชาติ จากพืชพรรณต่างๆในชุมชน ที่นำมาดัดแปลงเป็นสีย้อมผ้าจากธรรมชาติ และสร้างลวดลายสวยงามด้วยฝีมือของลูกหลานชาวบ้านของหมู่บ้านคีรีวงแห่งนี้ เมื่อได้ดูวิธีและขั้นตอนการผลิตตั้งแต่ต้นไปจนถึงได้ผ้าย้อมมาแล้วต้องทึ่งกับการหมักสีที่มาจากพืชหลากหลายชนิด อาทิเช่น เปลือกมังคุด เปลือกเงาะ ไม้ขนุน และพืชผลไม้าอื่นๆ อีกมากมายที่นำมาทำเป็นสีย้อมผ้า ซึ่งปราศจากสารเคมี จนถึงขั้นตอนของการวาดแบบลงบนผืนผ้า การดีไซน์ลวดลายต่างๆ ที่มีความสวยงามมากๆ
ส่วนครูอารีย์ ขุนทน ครูช่างหัตถศิลปหัตถกรรม ปี 2563 กล่าวถึงที่มาของการสืบสานเทคนิคย้อมผ้าด้วยสีธรรมชาติ ซึ่งเป็นภูมิปัญญาของชาวบ้านหมู่บ้านคีรีวงที่ถ่ายทอดสืบต่อกันมาจากรุ่นสู่รุ่น ที่ได้คิดค้นนำพืชพรรณต่างๆ ในชุมชนมาใช้ทำสีย้อมผ้า เช่น เปลือกไม้ ใบ ผล ฝักสะตอ ผลเงาะ และไม้ขนุน พร้อมเทคนิคการมัดย้อมให้เกิดลวดลายที่เป็นภูมิปัญญาของชาวคีรีวง คือการสร้างลวดลายด้วยการมัดผ้ากับไม้ไผ่เหลาซี่เล็ก และงานผ้าบาติกที่เขียนเทียนด้วยมือ ที่วาดลวดลายจากธรรมชาติที่อยู่รอบ ๆ ตัว เช่น ลายฝักสะตอ ลายสายน้ำ ลายภูเขา ซึ่งเป็นเอกลักษณ์และสีสันของผ้าย้อมสีธรรมชาติจากหมู่บ้านคีรีวงที่ให้ความโดดเด่นสวยงามไม่เหมือนใคร
คุณศิรินทร์ทิพย์ ศรีใหม่ ผู้อำนวยการสำนักสื่อสารภาพลักษณ์และจัดการวัฒนธรรมศิลปหัตถกรรม สถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทยมอบของที่ระลึกจาก SACIT แด่ ครูอารีย์ ขุนทน ครูช่างหัตถศิลปหัตถกรรม ปี 2563
เครื่องจักสานย่านลิเภา เป็นอีกหนึ่งหัตถกรรมไทยที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
และอีกหนึ่งงานศิลปหัตถกรรมไทยที่ได้ไปเยี่ยมชมก็คือ ศิลปหัตถกรรม“ย่านลิเภา” หรือ “หญ้าลิเภา” คือ “วัชพืชมากมูลค่าแห่งเมืองนครศรีฯ นำมาถักทอสาน กว่าจะได้ผลิตภัณฑ์จากย่านลิเภาสักชิ้นก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย กรรมวิธีและขั้นตอนที่ยุ่งยากซับซ้อนไม่แพ้งานหัตถกรรมชนิดอื่น แต่ด้วยฝีมือจากน้ำพักน้ำแรงที่ริเริ่มโดยบรมครูรุ่นบรรพบุรุษ แล้วยังนำมาประยุกต์สร้างสรรค์ใหม่ให้เข้ากับเทรนด์ของผู้บริโภคในปัจจุบัน ซึ่งมีผลิตภํณฑ์มากมายที่มาจากย่านลิเภา ซึ่งก็มีทั้ง กระเป๋า ตะกร้า ของใช้ เครื่องประดับภายในบ้าน และของกระจุกกระจิกต่างๆ จากย่าน่ลิเภา ล้วนทรงคุณค่า สวยหรู น่าใช้มากๆ
ด้านคุณนภารัตน์ ทองเสภี ทายาทช่างศิลปหัตถกรรม ปี 2557 กล่าวว่า เครื่องจักสานย่านลิเภา เป็นอีกหนึ่งหัตถกรรมไทยที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพราะกระบวนการผลิตเครื่องจักสานนี้ใช้พืชตระกูลเฟิร์น หรือเถาวัลย์ชนิดหนึ่งที่คนท้องถิ่นเรียกว่า “ย่าน” พบมากในป่าภาคใต้ของไทย มีคุณสมบัติเหนียวและทนทาน จึงเป็นหนึ่งในเอกลักษณ์ของเครื่องจักสานย่านลิเภา โดยกลุ่มจักสานย่านลิเภาแห่งบ้านนาเคียน จังหวัดนครศรีธรรมราช ได้สืบสานเอกลักษณ์ของหัตถกรรมไทยที่ทำจากพืชธรรมชาติในท้องถิ่นนี้ นำมาสานด้วยความประณีตจากเทคนิคการสานของบรรพบุรุษ และยังนำมาประยุกต์ให้เข้ากับเทรนด์ของผู้บริโภคในปัจจุบัน ด้วยการปรับให้มีรูปแบบที่หลากหลายขึ้น เพื่อให้เป็นสินค้าที่สามารถใช้อย่างแพร่หลายในชีวิตประจำวัน
ผอ ศิรินทร์ทิพย์ ศรีใหม่ ผู้อำนวยการสำนักสื่อสารภาพลักษณ์และจัดการวัฒนธรรมศิลปหัตถกรรม สถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย มอบของที่ระลึกจาก SACIT แด่ คุณนภารัตน์ทองเสภีมอบ ทายาทช่างศิลปหัตถกรรม ปี 2557
งานศิลปหัตถกรรมไทยที่กล่าวมาข้างต้น เป็นเพียงส่วนหนึ่งของศิลปหัตถกรรมไทยที่สร้างสรรค์และริเริ่มโดยคนไทย ชาวบ้านท้องถิ่น ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงรากเหง้าทางวัฒนธรรม และวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของบรรพบุรุษ ถึงแม้กาลเวลาได้ผ่านร่วงไป แต่งานศิลปหัตถกรรมทรงคุณค่าก็ยังคงถูกสืบสานต่อมาจากรุ่นสู่รุ่น และยังมีผู้ที่เห็นถึงคุณค่าของงานศิลปหัตถกรรมที่คอยสร้างสรรค์และอนุรักษ์ไว้ซึ่งเอกลักษณ์ทางภูมิปัญญาดั้งเดิมที่สืบทอดจากบรรพบุรุษชาวภาคใต้ไว้ไม่ให้หายสิ้นไปตามกาลเวลา
นอกจากจะได้ชื่นชมและประทับใจกับศิลปหัตถกรรมพื้นบ้านไทยของจังหวัดนครศรีธรรมราชแล้ว ยังมีสถานที่ท่องเที่ยวมากมายของจังหวัดนครศรีธรรมราชที่ใครมาแล้วต้องไม่พลาด และสถานที่ที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักและโด่งดังมากได้มีโอกาสไปแวะ 3 แห่ง ก็คือ
แห่งแรก ไปไหว้พระทึ่วัดมหาธาตุ วรมหาวิหาร ซึ่งเป็นวัดอารามหลวงชั้นเอก พระบรมธาตุเจดีย์นั้นเป็นที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้า ส่วนยอดของเจดีย์เป็นทองคำแท้ งดงามมากค่ะ
ส่วนอีกแห่งหนึ่งก็คือ วัดเจดีย์ไอ้ไข่ ตำนานของไอ้ไข่ อยู่ตำบลฉลอง อำเภอสิชล จ.นครศรีธรรมราช ที่มีเรื่องเล่าขานกันสืบต่อกันมาช้านาน โดยเชื่อว่าไอ้ไข่ คือลูกของชาวบ้านที่มาวิ่งเล่นในวัดตั้งแต่เด็กๆ อายุประมาณ 10 ขวบแต่ประสบอุบัติเหตุจมน้ำเสียชีวิต วิญญาณผูกพันกับวัดแห่งนี้ จึงสิงสถิตอยู่ในวัดเจดีย์มาจนถึงปัจจุบัน เค้าว่ากันว่าไอ้ไข่ชอบไก่ ดังนั้นของไหว้ที่เป็นที่นิยมนำมาไหว้ไอ้ไข่ก็จะมี รูปปั้นไก่ชน จะไก่เงิน ไก่ทองหรือไก่เพชร จะถูกใจไอ้ไข่มากๆ และที่ขาดไม่ได้อีกอย่างก็คือประทัดจุดให้ดังปังๆ เข้าไว้ไอ้ไข่ชอบแน่ๆ
ส่วนสถานที่ วิวสวยๆ ลำธารใสๆ ก็จะต้องไปที่นี่เลยค่ะ สะพานเก่าแก่ที่มีชื่อเสียงของเมืองนครศรีธรรมราช ชื่อว่าสะพานบ้านคีรีวง คลองท่าดี ที่สร้างขึ้นในปี 2535 มีลำธารด้านล่างที่แสนจะใสสะอาดสุดๆ มีช่วงที่เป็นสะพานไม้ให้ข้ามผ่านและถ่ายภาพสวยๆสำหรับเช็คอิน และเซลฟี่กันอีกด้วย
ขอบคุณสถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย (องค์การมหาชน) หรือ sacit ที่นำคณะสื่อมวลชนลงภาคใต้ เพื่อศึกษา รับรู้งานศิลปหัตถกรรมไทย จังหวัดนครศรีธรรมราช