กรุงเทพฯ – นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เปิดตัวโครงการส่งเสริมซอฟต์พาวเวอร์ สาขาอาหาร เดินหน้านโยบาย One Family One Soft Power : OFOS สอดรับการส่งเสริมให้ประเทศไทยกลายเป็นศูนย์กลางอาหารระดับโลก (Global Food Hub) จากนโยบายดังกล่าว นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้มอบหมายให้ กระทรวงอุตสาหกรรม โดย กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือดีพร้อม (DIPROM) ดำเนินโครงการผ่าน 4 กิจกรรมสำคัญ ประกอบด้วย 1) ยกระดับหนึ่งหมู่บ้านหนึ่งเชฟอาหารไทย 2) การพัฒนาร้านอาหารเชฟชุมชน อาหารถิ่นอาหารไทย 3) ยกระดับศูนย์นวัตกรรมอาหารชุมชน และ 4) การส่งเสริมการใช้นวัตกรรมเพื่อยกระดับอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มไทยสู่ตลาดโลกอย่างยั่งยืน อีกทั้งยังได้สานต่อความสำเร็จด้วยแผนงานระยะ 4 ปี (พ.ศ. 2567-2570) คาดสร้างงานและอาชีพกว่า 75,000 ตำแหน่ง เพิ่มรายได้ให้กับเศรษฐกิจของประเทศกว่า 3,500 ล้านบาท
นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า รัฐบาลไทยตระหนักถึงความสำคัญของซอฟต์พาวเวอร์ในฐานะเครื่องมือที่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผ่านนโยบาย One Family One Soft Power : OFOS ด้วยการขับเคลื่อนนโยบายซอฟต์พาวเวอร์ 14 สาขา ได้แก่ ภาพยนตร์ ละครและซีรีส์ ออกแบบ กีฬา ศิลปะ ศิลปะการแสดง หนังสือ อาหาร แฟชั่น เฟสติวัล เกม ดนตรี ท่องเที่ยว และอุตสาหกรรม Wellness
โดยมีต้นน้ำที่สำคัญคือการสร้างคน ต้องมีการสร้าง “นักรบซอฟต์พาวเวอร์” ให้ได้มากที่สุด และปลายน้ำด้วยการนำเอกลักษณ์ ภูมิปัญญา วัฒนธรรมสร้างสรรค์ของไทยเป็นอุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์ของไทยไปสู่ตลาดโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาหารไทยถือเป็นหนึ่งในเอกลักษณ์ที่ทรงพลังที่สุด เพราะอาหารไม่ได้เป็นเพียงสิ่งที่ใช้บริโภคในชีวิตประจำวัน แต่ยังเป็นตัวแทนของวัฒนธรรม วิถีชีวิต และความคิดสร้างสรรค์ ที่บ่งบอกถึงอัตลักษณ์ของคนไทยได้อย่างชัดเจนจากรากฐานสู่ความยั่งยืน ซึ่งสอดรับกับนโยบายของ กระทรวงอุตสาหกรรม ที่ต้องการ “ปฏิรูปอุตสาหกรรม สู่เศรษฐกิจยุคใหม่ ทันสมัย สะอาด สะดวก โปร่งใส” ผ่านแผนการดำเนินงานระยะ 4 ปี (พ.ศ. 2567-2570) ซึ่งมุ่งเน้นไปที่การพัฒนาศักยภาพของอุตสาหกรรมอาหารไทยในหลากหลายมิติ ด้วยการเชื่อมโยงระหว่าง ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม เพื่อสร้างระบบนิเวศ (Ecosystem) ที่สมบูรณ์สำหรับอุตสาหกรรมอาหารไทย
เป้าหมายสำคัญของแผนงานนี้คือการสร้างโอกาสให้กับคนไทยทุกระดับ ตั้งแต่การสร้างงานและอาชีพกว่า 75,000 ตำแหน่ง ไปจนถึงการเพิ่มรายได้ให้กับเศรษฐกิจของประเทศ รวมมูลค่ากว่า 3,500 ล้านบาท
กระทรวงอุตสาหกรรม จึงได้มอบหมายให้ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม (DIPROM) วางแนวทางการสร้างและส่งเสริมซอฟต์พาวเวอร์ภายใต้แผนยุทธศาสตร์การพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์ อันประกอบด้วย 5 เสาหลัก คือ 1) ศึกษาและพัฒนาทรัพยากร และทุนทางวัฒนธรรมอย่างสร้างสรรค์ 2) พัฒนาบุคลากรเพื่อขับเคลื่อนซอฟต์พาวเวอร์ไทย 3) พัฒนาธุรกิจเพื่อยกระดับขีดความสามารถของซอฟต์พาวเวอร์ไทย 4) ส่งเสริมซอฟต์พาวเวอร์ไทยสู่ระดับสากล 5) สนับสนุนปัจจัยเอื้อในการส่งเสริมซอฟต์พาวเวอร์ไทย
ทั้งนี้ ในส่วนของโครงการส่งเสริมซอฟต์พาวเวอร์ สาขาอาหารของดีพร้อม ประกอบไปด้วยการดำเนินงานใน 4 กิจกรรมสำคัญ ดังนี้ 1) การยกระดับหนึ่งหมู่บ้านหนึ่งเชฟอาหารไทย ด้วยการส่งเสริมองค์ความรู้ และพัฒนาคุณภาพอาหาร พร้อมได้ใบรับรองจากสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ เพื่อให้สามารถนำไปประกอบอาชีพผู้ปรุงอาหารมืออาชีพ (เชฟ) ได้ 2) การพัฒนาร้านอาหารเชฟชุมชน อาหารถิ่นอาหารไทย ด้วยการคัดเลือกชุมชนเป้าหมาย เพื่อนำมาเสริมองค์ความรู้สร้างความเข้มแข็งให้ชุมชนให้มีศักยภาพสู่การเป็น 1 ครอบครัว 1 ซอฟต์พาวเวอร์ต่อไปในอนาคต 3) การยกระดับศูนย์นวัตกรรมอาหารชุมชน ด้วยการพัฒนาองค์ความรู้เรื่องมาตรฐาน และส่งเสริมให้ชุมชนใช้เทคโนโลยี นวัตกรรมในการเพิ่มมูลค่าให้แก่อาหารชุมชน รวมถึงส่งเสริมการใช้วัตถุดิบทางการเกษตรแต่ละภูมิภาคในการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ที่เพิ่มมูลค่า และ 4) การส่งเสริมการใช้นวัตกรรมเพื่อยกระดับอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มไทยสู่ตลาดโลกอย่างยั่งยืน ด้วยการพัฒนาศักยภาพธุรกิจอาหาร ด้วยนวัตกรรม เทคโนโลยี มาตรฐาน ความคิดสร้างสรรค์ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันระดับสากล
นายเอกนัฏ กล่าวเพิ่มเติมว่า โครงการนี้ไม่ใช่เพียงแค่การสร้างชื่อเสียงให้กับอาหารไทยในเวทีโลก แต่ยังเป็นของขวัญปีใหม่ สำหรับพี่น้องคนไทยทุกคน ช่วยสร้างงาน สร้างอาชีพ และส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นให้กับคนไทย ตั้งแต่เกษตรกร ผู้ประกอบการรายย่อย ไปจนถึงธุรกิจขนาดใหญ่รวมถึงยังช่วยส่งเสริมให้ประเทศไทยกลายเป็นศูนย์กลางอาหารระดับโลก (Global Food Hub) โดยดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ และเพิ่มมูลค่าการส่งออกอาหารไทยในตลาดโลกตอกย้ำถึงความสำคัญของอาหารไทยในระดับสากล ซึ่งโซนไฮไลต์ภายในงาน ประกอบด้วย โซน 8 Food Station ที่นำเสนอ 16 เมนูสุดพิเศษ โดยเชฟเซเลบริตี้ชื่อดัง ที่มารังสรรค์เมนูที่อยู่ในหลักสูตรพัฒนาเชฟให้ได้ชิมกันในงาน โซนศูนย์อัจฉริยะด้านอาหาร นำเสนอผลิตภัณฑ์อาหารและวัตถุดิบแปรรูปจากชุมชน ที่แสดงถึงนวัตกรรมและศักยภาพของอาหารท้องถิ่น โซนร้านอาหารเชฟชุมชนอาหารถิ่นอาหารไทย (Local Chef Restaurant) เสิร์ฟจริง ชิมจริง กับ 4 เมนูเด็ดที่รังสรรค์โดยชุมชนดีพร้อมตัวอย่างจาก 4 ภาค อีกทั้งยังมีโซนนวัตกรรมอาหารและเครื่องดื่มไทยสู่ตลาดโลกอย่างยั่งยืนที่นำเสนอเครื่องดื่มสุดสร้างสรรค์จากมืออาชีพ รังสรรค์เมนูสูตรพิเศษ เพื่อให้ผู้ร่วมงานได้สัมผัสความโดดเด่นของเครื่องดื่มที่มีรสชาติที่หลากหลาย
นอกจากการเปิดตัวโครงการส่งเสริมซอฟต์พาวเวอร์ สาขาอาหารแล้ว ภายในงานยังได้จัดให้มีการบูรณาการความร่วมมือระหว่างกระทรวงอุตสาหกรรม โดย กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม (DIPROM) กับ หน่วยงานภาคีเครือข่ายอีก 7 หน่วยงาน ประกอบด้วย 1) สำนักงานปลัดกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม 2) คณะกรรมการอาชีวศึกษา 3) กรมอนามัย 4) กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน 5) สถาบันคุณสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) 6) สำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ และ 7) สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) เพื่อผลักดันซอฟต์พาวเวอร์อาหารไทยให้ก้าวไกลสู่ระดับโลก โดยเฉพาะในด้านการสร้างมาตรฐานคุณภาพอาหาร การวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ และการสนับสนุนการส่งออกสินค้าอาหารไทย นายเอกนัฏ กล่าวทิ้งท้าย