กระทรวงพาณิชย์ โดย กรมพัฒนาธุรกิจการค้า สร้าง Soft Power ผลิตภัณฑ์ชุมชน DBD SMART Local โชว์ความสำเร็จโครงการผู้ประกอบการชุมชนมีดี SMART Local ME-D ที่ผ่านการพัฒนาเพิ่ม 4 ทักษะการค้าเข้มข้น ทั้งการสร้างแบรนด์ การสร้าง Story Telling การจัดแสดงสินค้า และการนำเสนอธุรกิจ/เจรจาต่อรอง ต่อยอดขยายตลาดผ่านเส้นทางตลาดผลิตภัณฑ์ชุมชนมีดี “พะ-มหา-นคร” ชู 3 อัตลักษณ์ จาก 3 ภูมิภาค ใน 3 เส้นทาง : พะเยา มีดี มหาสารคาม มีดี และ นครศรีธรรมราช มีดี หวังยกระดับชุมชนฐานรากสู่ธุรกิจชุมชนที่เข้มแข็งและยั่งยืน พร้อมมอบประกาศนียบัตรแก่ผู้ประกอบการชุมชนมีดี (SMART Local ME-D) ที่เข้าร่วมโครงการ 40 ราย
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า วันนี้ (วันศุกร์ที่ 13 กันยายน 2567) ได้มอบหมายให้ นายสถาพร ร่วมนาพะยา รองอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เป็นประธานแถลงความสำเร็จโครงการผู้ประกอบการชุมชนมีดี SMART Local ME-D พร้อมมอบประกาศนียบัตรแก่ผู้ประกอบการที่ผ่านการอบรมฯ ทั้งนี้ เศรษฐกิจฐานรากเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้มีความเข้มแข็ง ซึ่งผู้ประกอบการชุมชนถือเป็นกำลังหลักในการผลักดันเศรษฐกิจท้องถิ่นให้มีความแข็งแกร่งและเติบโตอย่างยั่งยืน กระทรวงพาณิชย์ โดย กรมพัฒนาธุรกิจการค้า เป็นหน่วยงานที่มีภารกิจส่งเสริมพัฒนาศักยภาพด้านการตลาดแก่ผู้ประกอบการชุมชน พร้อมยกระดับและสร้างมูลค่าเพิ่มให้ผลิตภัณฑ์ชุมชน รวมถึงการเพิ่มโอกาสทางการค้าและขยายช่องทางการตลาดให้เข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคที่หลากหลาย โดยได้ดำเนิน ‘กิจกรรมสร้าง Soft Power ผลิตภัณฑ์ชุมชน DBD SMART Local’ ภายใต้แนวคิด SMART Local ซึ่งเป็นหลักการพัฒนายกระดับผลิตภัณฑ์ชุมชน ชูอัตลักษณ์และภูมิปัญญาท้องถิ่นผสมผสานกับนวัตกรรมเชิงสร้างสรรค์ เพื่อสร้างจุดเด่นและความแตกต่าง สู่ภาพลักษณ์ Soft Power ผลิตภัณฑ์ชุมชนไทยที่มีความแตกต่าง ไม่เหมือนใคร และสามารถสร้างความสนใจแก่นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติได้เป็นอย่างดี
‘กิจกรรมสร้าง Soft Power ผลิตภัณฑ์ชุมชน DBD SMART Local’ เป็นการสร้างมุมมองธุรกิจที่ดีแก่ผู้ประกอบการชุมชน เน้นการพัฒนา Soft Skill และการเรียนรู้จาก Success Case ซึ่งมีผู้ประกอบการจากทั่วประเทศเข้าร่วมอบรมกว่า 100 ราย จากนั้นกรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้คัดเลือกผู้ประกอบการ 40 ราย เพื่อเข้ารับการอบรมพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการเชิงลึกและจัดกิจกรรมทดสอบตลาด รวมระยะเวลา 4 วัน 3 คืน
ภายในงานมีการเจรจาธุรกิจระหว่างผู้ประกอบการที่เข้าร่วมอบรมกับกลุ่มผู้จัดจำหน่าย เช่น ห้างสรรพสินค้า ร้านค้า โรงแรม ธุรกิจท่องเที่ยว ซึ่งจะเป็นอีกหนึ่งช่องทางการตลาดให้กับผู้ประกอบการ หลังจากนั้น ได้สร้างต้นแบบเส้นทางตลาดผลิตภัณฑ์ชุมชน 3 เส้นทาง ใน 3 ภูมิภาค นำจุดเด่นด้านภูมิปัญญาท้องถิ่นและวัฒนธรรมในพื้นที่ ถ่ายทอดสู่ผลิตภัณฑ์ชุมชนที่มีอัตลักษณ์โดดเด่น ภายใต้ชื่อ “พะ-มหา-นคร” คือ เส้นทางแรก ‘พะเยา มีดี’ เส้นทางที่ 2 ‘มหาสารคาม มีดี’ และ เส้นทางที่ 3 ‘นครศรีธรรมราช มีดี’
เส้นทางตลาดผลิตภัณฑ์ชุมชน “พะเยา มีดี” ประกอบด้วย * วิสาหกิจชุมชนหัตถกรรมล้านนาสันปูเลย อำเภอเมืองพะเยา ที่นำเสนอภูมิปัญญาท้องถิ่นด้วยการนำไม้ไผ่และผักตบชวาในกว๊านพะเยามาถักสานเป็นตะกร้าและกระเป๋าถือ เป็นการพัฒนาต่อยอดในการใช้วัตถุดิบจากธรรมชาติมาช่วยสร้างงาน สร้างอาชีพให้กับคนในชุมชนได้อย่างมีคุณค่า * วิสาหกิจชุมชนกลุ่มผ้ามัดย้อมชิโบริสีธรรมชาติแม่อิง อำเภอภูกามยาว ผลิตภัณฑ์ผ้ามัดย้อมจากสีธรรมชาติที่ผสมผสานเทคนิคการสร้างลวดลายผ้าแบบญี่ปุ่นเข้ากับภูมิปัญญาย้อมผ้าของล้านนาและเพ้นท์ผ้าลายน้ำไหล และ * วิสาหกิจชุมชนไบโอแบล็ค” อำเภอจุน ข้าวก่ำล้านนา จากข้าวพันธุ์ท้องถิ่น สร้างผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อสุขภาพที่มีคุณค่าสูง ยกระดับข้าวไทยให้ดังไกลถึงต่างประเทศ
เส้นทาง “มหาสารคาม มีดี” ประกอบด้วย * กลุ่มทอผ้าขาวม้า ลายทอ แกดำ อำเภอแกดำ ผลิตภัณฑ์ผ้าขาวม้าลายเอกลักษณ์เฉพาะถิ่นที่ไม่เหมือนใคร คือ ‘ลายกบ’ และ ‘ลายสะพานไม้แกดำ’ ลายผ้าจากภูมิปัญญาของคนในชุมชนบ้านแกดำ นำมาพัฒนาต่อยอดสร้างสรรค์จนกลายเป็นผลิตภัณฑ์ผ้าขาวม้าหลากหลายรูปแบบ ทั้งหมวก กระเป๋า ผ้าพันคอ * บริษัท เอวาฤทธิ์ ไทย ฟู้ด จำกัด อำเภอกันทรวิชัย ผลิตภัณฑ์อาหารพื้นถิ่นอีสานแปรรูป แบรนด์ ‘อิหล่าคำแพง’ เช่น แกงอ่อมสำเร็จรูป น้ำยาขนมจีนแกงป่า น้ำพริกปลาร้าทรงเครื่อง ที่ให้รสสัมผัสปลาร้าดั้งเดิม รสชาติอีสานแท้ๆ ที่ได้คุณภาพและมาตรฐานการผลิต ไม่ว่ากินที่ไหนก็เหมือนกินอยู่ที่อีสาน * กลุ่มเสื่อกกทองใบเต่างอย ชุมชนบ้านแพง อำเภอโกสุมพิสัย ผลิตภัณฑ์เสื่อกกธรรมชาติที่สะท้อนให้เห็นถึงวิถีชีวิตของคนอีสาน การอยู่ร่วมกันอย่างพร้อมหน้าพร้อมตาด้วยความรักและความอบอุ่น ถ่ายทอดจินตนาการด้วยการสานเส้นทอจากต้นกกธรรมชาติ จนกลายเป็น ‘เต่างอยแฮนด์คราฟต์’ ที่มีลวดลายอันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะถิ่น
และเส้นทาง “นครศรีธรรมราช มีดี” ประกอบด้วย * กลุ่มผลิตภัณฑ์กระจูดโคกทราง อ.ชะอวด กระจูดจากผืนป่าพรุควนเคร็งที่กว้างใหญ่และอุดมสมบูรณ์ใน อ.ชะอวด ถูกนำมาต่อยอดและสร้างสรรค์ด้วยงานสานของคนในชุมชนออกมาเป็นผลิตภัณฑ์กระเป๋าสานจากกระจูดธรรมชาติ ที่สวยงาม แข็งแรง และทนทาน * กลุ่มผลิตภัณฑ์ผ้าพิมพ์ลายใบไม้ GoodsLuKsi อ.ลานสกา ด้วยธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์พืชพรรณที่หลากหลายของผืนป่าบ้านคีรีวง เกิดเป็นแรงบัลดาลใจให้ชาวบ้านนำใบไม้จากสวนของตัวเองมาสร้างสรรค์งานศิลป์ลงบนผืนผ้า มีทั้งลายใบยางพารา ลายลูกเนียง และลายที่มาจากใบไม้จากป่าในชุมชนมากกว่า 40 ชนิด * กลุ่มผลิตภัณฑ์ท่าหลาโกโก้ (Tala Cocoa) อ.ท่าศาลา เป็นผลิตภัณฑ์แปรรูปจากโกโก้ และคราฟท์โกโก้ ซึ่งเป็น Superfood ของเมืองคอน ที่ถูกพัฒนาต่อยอดจากรุ่นพ่อแม่สู่รุ่นลูก เป็นเครื่องดื่ม ไอศกรีม เค้ก และชาเพื่อสุขภาพ
นี่ถือเป็นเส้นทางความสำเร็จของผู้ประกอบการชุมชนมีดี SMART Local ME-D ที่กระทรวงพาณิชย์ โดย กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ได้ปลุกปั้น สร้างสรรค์ หวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะสามารถเสริมสร้างศักยภาพทักษะการค้าให้แก่ผู้ประกอบการชุมชน ช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ยกระดับสู่การเป็นธุรกิจชุมชนที่เข้มแข็ง และสามารถขยายช่องทางการตลาดแบบเดิมให้เติบโตอย่างมั่นคง พร้อมเชื่อมโยงไปยังช่องทางการตลาดแบบใหม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ นําไปสู่เสถียรภาพของเศรษฐกิจฐานรากที่เข้มแข็ง มั่นคง และยั่งยืนต่อไป
โอกาสนี้ รองอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า นายสถาพร ร่วมนาพะยา ได้มอบประกาศนียบัตรแก่ผู้ประกอบการชุมชนมีดี (SMART Local ME-D) ที่ผ่านการอบรมพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการเชิงลึกและจัดกิจกรรมทดสอบตลาดจำนวน 40 ราย พร้อมเยี่ยมชมบูธการจัดแสดงผลิตภัณฑ์ของผู้ประกอบการชุมชนมีดี และต้นแบบเส้นทางตลาดผลิตภัณฑ์ชุมชนมีดี พะ-มหา-นคร ด้วย” อธิบดีอรมน กล่าวทิ้งท้าย
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ กองธุรกิจภูมิภาคและชุมชน กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ โทรศัพท์ 0 2547 5950 สายด่วน 1570 และ www.dbd.go.th