
อุตสาหกรรมเกษตร มก. เปิดหลักสูตร ป.เอก นวัตกรรมและการจัดการอุตสาหกรรมเกษตร (ภาคพิเศษ) เรียนแบบ Hybrid (Offline & Online) จบภายใน 3 ปี แนะนำผู้บริหาร ที่ปรึกษา ผู้ประกอบการด้านอุตสาหกรรมเกษตรเรียนเพื่อเสริมทักษะ ต่อยอดองค์ความรู้ เสริมสร้างวิสัยทัศน์และกลยุทธ์ รองรับการแข่งขันในยุคดิจิทัล

คณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เปิดตัวปริญญาเอก หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขานวัตกรรมและการจัดการอุตสาหกรรมเกษตร (ภาคพิเศษ) รองรับการเติบโตอุตสาหกรรมเกษตรยุคดิจิทัล มุ่งสร้างผู้นำองค์กรที่มีวิสัยทัศน์ สามารถบูรณาการองค์ความรู้เพื่อสร้างนวัตกรรมสำหรับการแก้ปัญหาหรือสร้างคุณค่าที่มีผู้ใช้ประโยชน์จริง ประเดิมปีการศึกษาแรก มิถุนายน 2568 เหมาะสำหรับผู้บริหารระดับกลางถึงระดับสูง ที่ปรึกษาทางธุรกิจและผู้ประกอบการที่ต้องการเพิ่มพูนความรู้ ทั้งด้านวิชาการ ทักษะ และประสบการณ์ ผ่านการศึกษาวิจัยด้านนวัตกรรมและการจัดการที่ประยุกต์ให้เข้ากับภาคอุตสาหกรรมเกษตรและธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิผล

รศ.ดร.อนุวัตร แจ้งชัด คณบดีคณะอุตสาหกรรมเกษตร กล่าวถึงการเปิดหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขานวัตกรรมและการจัดการอุตสาหกรรมเกษตร (ภาคพิเศษ) ในปีการศึกษา 2568 ว่า คณะอุตสาหกรรมการเกษตรมีพันธกิจในการสร้างบุคลากรผู้นำด้านธุรกิจเกษตรและอาหาร สร้างองค์ความรู้และผลงานวิจัยที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม สร้างคุณค่าตลอดโซ่อุปทานธุรกิจเกษตรและอาหาร เพื่อให้ธุรกิจเกษตรและอาหารเติบโตและสามารถแข่งขันในตลาดโลกอย่างยั่งยืน จากการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วหรือพลิกผันทางเทคโนโลยี วิถีชีวิต พฤติกรรมและความต้องการของตลาด ส่งผลให้ธุรกิจเกษตรและอาหารต้องนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้ในหลายบริบทเพื่อตอบโจทย์ความต้องการในการบริโภค นอกจากนี้การพัฒนาให้โซ่อุปทานเกษตรและอาหารจะเติบโตได้อย่างยั่งยืนนั้น จะต้องอาศัยทั้งองค์ความรู้และกลยุทธ์ หรือวิสัยทัศน์ของบุคลากรระดับผู้นำในการบริหารจัดการเพื่อกำหนดทิศทางในการดำเนินการเพื่อสร้างนวัตกรรมในการแก้ปัญหาหรือสร้างโอกาสหรือคุณค่าในทางธุรกิจ รวมถึงการกำหนดนโยบายเพื่อยกระดับการแข่งขันให้กับโซ่อุปทานเกษตรและอาหารของประเทศไทย ดังนั้น การเสริมสร้างองค์ความรู้และทักษะด้านนวัตกรรมและการจัดการอุตสาหกรรมเกษตรและอาหารจึงเป็นสิ่งสำคัญ

“เดิมหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขานวัตกรรมและการจัดการอุตสาหกรรมเกษตร มีเปิดการเรียนการสอนในภาคปกติอยู่แล้ว แต่การเรียนในเวลาราชการยังไม่ตอบโจทย์สำหรับผู้บริหาร ที่ปรึกษาทางธุรกิจ และผู้ประกอบการ ที่ต้องทำงานเต็มเวลา และยังต้องการเรียนรู้เพื่อเพิ่มพูนทักษะ ความรู้ และประสบการณ์จากงานวิจัย เพื่อนำไปต่อยอดในธุรกิจ ทางคณะอุตสาหกรรมเกษตรจึงได้พิจารณาเปิดหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขานวัตกรรมและการจัดการอุตสาหกรรมเกษตร (ภาคพิเศษ) ขึ้น โดยใช้เวลาเรียนนอกวันและเวลาราชการ คือวันอาทิตย์ และใช้ระยะเวลาเรียนประมาณ 3 ปี ซึ่งหลักสูตรนี้จะมุ่งเน้นการสร้างผู้นำองค์กรให้มีวิสัยทัศน์กว้างไกล มีความรู้ลึกในเชิงวิชาการ สามารถคิดและทำวิจัย บูรณาการองค์ความรู้มาพัฒนาองค์กร และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในระดับชาติและระดับนานาชาติได้”

ด้าน รศ.ดร.ปรารถนา ปรารถนาดี ประธานหลักสูตรดุษฎีบัณฑิตสาขานวัตกรรมและการจัดการอุตสาหกรรมเกษตร ภาคพิเศษ กล่าวถึงจุดเด่นของหลักสูตรนี้ ว่าเป็นหลักสูตรที่เน้นสร้างองค์ความรู้และทักษะความเป็นเลิศทางวิชาการ และส่งเสริมแนวคิดให้ผู้ประกอบการ ทั้งในด้านวิสัยทัศน์ ความรู้ ทักษะในการบริหารจัดการ และแนวคิดนวัตกรรมทางเกษตรและอาหาร ทั้งด้านผลิตภัณฑ์ กระบวนการ การบริการ และโมเดลทางธุรกิจ เพื่อเป็นผู้นำขององค์กรที่สามารถวางกลยุทธ์หรือนโยบายที่จะเป็นประโยชน์ต่อธุรกิจหรือวงการอุตสาหกรรมอาหารได้อย่างแท้จริง ที่สำคัญหลักสูตรนี้จะมีคณาจารย์ภาควิชาที่มีความชำนาญ (Expertise) ครอบคลุมทั้งด้านนวัตกรรมและการจัดการโซ่คุณค่าบนพื้นฐานอุตสาหกรรมเกษตรเป็นที่ปรึกษาและดูแลแบบใกล้ชิด ทำให้นิสิตสามารถเลือกทำวิจัยในประเด็นที่สอดคล้องกับความต้องการได้แบบเฉพาะบุคคล และยังมีพันธมิตรจากภาครัฐและเอกชนเข้ามาร่วมสนับสนุนในด้านการเรียนการสอนและการทำโครงการวิจัยด้วย เช่น องค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อสค.) โรงพยาบาลราชวิถี 2 และบริษัทวรลักษณ์พร๊อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) เป็นต้น

“หลักสูตรนี้มีเป้าหมายที่จะผลิตบุคลากรระดับดุษฎีบัณฑิตในสาขาวิชานวัตกรรมและการจัดการทางอุตสาหกรรมเกษตร บนแนวคิดหลักคือ สามารถออกแบบและสร้างสรรค์แนวคิดนวัตกรรม เพื่อสร้างโอกาสและคุณค่าสำหรับอุตสาหกรรมเกษตรละอาหาร และพัฒนาระบบการดำเนินงานในโซ่อุปทานและการจัดการเชิงกลยุทธ์เพื่อแก้ไขปัญหาและดำเนินการจัดการธุรกิจอุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร ด้วยองค์ความรู้และทักษะสมัยใหม่ที่สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงทางสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบัน โดยผู้ที่เรียบจบจะมีความสามารถในการทำงานวิจัยเชิงลึกในสาขานวัตกรรมและการจัดการอุตสาหกรรมเกษตร และสามารถบูรณาการองค์ความรู้ ทักษะและงานวิจัยเพื่อแก้ปัญหา หรือสร้างโอกาสและคุณค่าให้กับธุรกิจหรือองค์กรของตน ซึ่งจะช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันสำหรับธุรกิจอุตสาหกรรมเกษตรและอาหารในบ้านเราได้”

รศ.ดร.รวิพิมพ์ ฉวีสุข กรรมการหลักสูตรดุษฎีบัณฑิตสาขานวัตกรรมและการจัดการอุตสาหกรรม เกษตร ภาคพิเศษ กล่าวเพิ่มเติมถึงหลักสูตรนี้ว่า เป็นการจัดการเรียนการสอนนอกวันและเวลาราชการ แบบ Onsite และ Online เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้เรียน ในวันอาทิตย์ ตั้งแต่เวลา 09.00 – 16.00 น. และอาจจะมีเสริมในวันอังคาร เวลา 18.00-21.00 น. ทาง Online โดยใช้ระยะเวลาการศึกษา 3 ปี หรือ 6 ภาคการศึกษาปกติ ตามปฏิทินการศึกษาของมหาวิทยาลัย ซึ่งภาคการศึกษาที่ 1 จะเปิดการเรียนการสอนในช่วงปลายเดือนมิถุนายน – ต้นเดือนพฤศจิกายน และภาคการศึกษาที่ 2 ในช่วงต้นเดือนพฤศจิกายน – ต้นเดือนเมษายน โดยหลักสูตรนี้มีจำนวนหน่วยกิตรวมตลอดหลักสูตร ไม่น้อยกว่า 48 หน่วยกิต ประกอบด้วยวิชาเรียน ไม่น้อยกว่า 12 หน่วยกิต และวิทยานิพนธ์ไม่น้อยกว่า 36 หน่วยกิต โดยมีวิชาหลักคือ การพัฒนาแนวคิดนวัตกรรมทางอุตสาหกรรมเกษตร (Concept Development of Agro-Industrial Innovations) ระเบียบวิธีวิจัยขั้นสูงทางนวัตกรรมและการจัดการอุตสาหกรรมเกษตร (Advanced Research Methods in Agro-Industrial Innovation and Management) และวิชาสัมมนา และวิชาเลือกคือรายวิชาในกลุ่มของการวิเคราะห์ข้อมูล (Data Analytics) การจัดการโซ่อุปทาน (Supply Chain Management) การตลาด (Marketing) และการจัดการเชิงกลยุทธ์ (Strategic Management) ทั้งนี้ ผู้สนใจยังสามารถเทียบโอนหน่วยกิตได้อีกด้วย

“หลักสูตรนี้สอดคล้องและตอบสนองต่อยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (2560-2580) ด้านการสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน ด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพมนุษย์ และสร้างการเติบโตของระบบเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน และยังสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ คือการสร้างสรรค์ศาสตร์แห่งแผ่นดิน เพื่อการพัฒนาประเทศที่ยั่งยืน การเพิ่มคุณภาพและประสิทธิภาพการดำเนินงานตามภารกิจบนหลักธรรมาภิบาล และการเพิ่มศักยภาพในการบริหารและจัดการทรัพยากรเพื่อความยั่งยืนภายใต้สภาวะการเปลี่ยนแปลง ซึ่งเราเชื่อว่าหลักสูตรนี้จะช่วยเพิ่มโอกาสและตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริหารระดับกลางถึงสูงในภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ เอกชน ที่ปรึกษาทางธุรกิจและผู้ประกอบการธุรกิจ ที่ต้องการเพิ่มพูนองค์ความรู้และการทำงานวิจัยเชิงลึก ที่ประยุกต์กับธุรกิจอุตสาหกรรมเกษตรได้เป็นอย่างดี”

ผศ.ดรอัจฉรา เกษสุวรรณ เลขานุการหลักสูตรดุษฎีบัณฑิต สาขานวัตกรรมและการจัดการอุตสาหกรรมเกษตร ภาคพิเศษ เสริมว่า สำหรับค่าเล่าเรียนในหลักสูตรนี้จะอยู่ที่ประมาณ 600,000 บาท สำหรับ 6 เทอมการศึกษา รวมค่าอาหาร คอฟฟี่เบรก กิจกรรมการเรียนการสอนและการศึกษาดูงานในประเทศ โดยไม่รวมค่าศึกษาดูงานต่างประเทศ (ตามความสมัครใจ) ซึ่ง นิสิตสามารถออกแบบกิจกรรมการศึกษาดูงานต่างประเทศได้เอง เพื่อให้นิสิตมีส่วนร่วมและเสริมทักษะการทำงานเป็นทีม โดยมีคณาจารย์เป็นผู้ให้คำปรึกษาและอำนวยความสะดวก

ทั้งนี้ ในอนาคตคณะอุตสาหกรรมเกษตรยังมีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาทุกหลักสูตรให้สอดคล้องกับมาตรฐานคุณภาพระดับสากล โดยเน้นผลลัพธ์การเรียนรู้ของผู้เรียน (Learning Outcomes-Based Education) เป็นหลัก และเน้นการพัฒนาทักษะที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21 เพื่อเตรียมความพร้อมให้ผู้เรียนสามารถปรับตัวรองรับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทั้งด้านเทคโนโลยี สังคม สิ่งแวดล้อม และ generation change เช่น การคิดวิพากษ์ การแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นจริง การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลและ AI การวิเคราะห์ข้อมูลประกอบการตัดสินใจ การวิเคราะห์แนวโน้ม การทำ foresight รวมถึงความรู้พื้นฐานที่จำเป็น เช่น Food literacy การรับมือกับสังคมผู้สูงอายุ และการเงิน โดยจะใช้กระบวนการเรียนการสอนแบบ Active learning ที่เน้นการมีส่วนร่วมของผู้เรียน ปรับบทบาทของอาจารย์จากผู้สอนให้กลายมาเป็นโค้ช เน้นการเรียนรู้จากภาคสนามและการปฏิบัติจริง

โดยความร่วมมือจากบริษัทเอกชนหรือโรงงานหรือหน่วยงานภาครัฐ พร้อมส่งเสริมให้มีแพลทฟอร์มการเรียนรู้แบบ Hybrid คือทั้ง online และ offline เพื่อเป็นทางเลือกให้กับผู้เรียนมากยิ่งขึ้น และในหลักสูตรแบบ Non-Degree ก็จะมีการพัฒนาหลักสูตรที่เน้นการเพิ่มทักษะเดิม (Upskill) ปรับเปลี่ยนทักษะใหม่ (Reskill) และเสริมทักษะที่จำเป็นในอนาคต (Newskill) เพื่อเปิดโอกาสให้กับบุคคลที่ทำงาน หรือผู้ที่ต้องการพัฒนาทักษะเพิ่มเติมในสาขาที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมเกษตร ได้มีโอกาสเข้ามาศึกษา โดยจะมีการจัดทำบทเรียนออนไลน์เพื่อสนับสนุนการเรียนรู้ตลอดชีวิต และขยายโอกาสการศึกษาให้กับผู้เรียนทุกกลุ่มด้วย สำหรับผู้ที่สนใจอยากย้ายหน่วยกิตมาศึกษาต่อในหลักสูตรนี้ของคณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ก็สามารถทำได้ ซึ่งต้องมาพูดคุยกันในส่วนรายละเอียดต่างๆ ก่อน

ผู้สนใจเรียนหลักสูตรปริญญาเอก ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขานวัตกรรมและการจัดการอุตสาหกรรมเกษตร (ภาคพิเศษ) สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ait@ku.ac.th หรือ aitm.ku@gmail.com Facebook: ait.kaset